top of page

วิธีเพาะปลากัด

  • Wix Facebook page
  • Wix Twitter page
  • Wix Google+ page
.

1. เริ่มแรกต้องเตรียมตู้ใส ขนาดประมาณ 14 – 18 นิ้ว แล้วแต่ท่านจะสะดวกมาทำการเตรียมน้ำ  โดยน้ำที่ผมใช้นั้นก็เป็นน้ำประปาที่กักทิ้งไว้เป็นข้ามคืน  ให้ใส่น้ำลงไปในตู้ประมาณ 1/3  ของตู้  ไม่ใส่น้ำเยอะมากเกินไป เนื่องจากจะช่วยย่นระยะทางให้พ่อปลาเก็บไข่ไปไว้ที่หวอดให้สั้นลง ประกอบกับเพื่อให้ลูกปลาที่เกิดใหม่ไม่จมน้ำลึก  สำหรับบางท่านอาจใช้ภาชนะอื่นในการเพาะก็ได้นะครับแล้วแต่จะสะดวก แต่ที่ผมใช้ตู้ใสนั้นเพื่อจะได้มองเห็นปฏิกิริยาของปลารวมถึงสังเกตลูกปลาเวลาที่เป็นโรค จะได้รักษาทันท่วงทีครับ


2. ผมก็จะใส่เกลือลงไปในตู้สักเล็กน้อย สัก 1 ช้อนชาเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคในน้ำ และหาสาหร่าย เช่นสาหร่ายหางกระรอกสัก 1- 2 ต้น  เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศในตู้ให้มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด  ซึ่งการสร้างบรรยากาศในตู้เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้พ่อแม่พันธุ์ผสมกันได้เร็วขึ้น รวมถึงการวางมุมตู้หรือสถานที่และอุณหภูมิก็มีผลเช่นกันที่จะทำให้พ่อแม่ปลาไม่รัดกัน ไม่ควรวางตู้ให้ถูกแดด หรือสว่างมากจนเกินไป เป็นต้น


3. ฉีกใบหูกวางขนาด 3x3 นิ้ว  วางลงไปบนผิวน้ำให้มันลอยอยู่หน้าน้ำ เพื่อให้พ่อปลาก่อหวอดใต้ใบหูกวาง  ซึ่งใบหูกวางจะมีสารเทนนิน ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดด่างของน้ำ และฆ่าเชื้อโรค รวมถึงช่วยลดความเครียดของปลากัดด้วย


4. เทคนิคที่ผมใช้อีกอย่างหนึ่งคือการใช้ออกซิเจน ผมก็จะหย่อนหัวทรายต่อออกซิเจนไว้ในตู้ แต่ยังไม่เปิดตอนนี้นะครับ  จะไปเปิดก็ตอนที่เห็นลูกมันว่ายออกจากหวอดครับ ทั้งนี้เป็นการช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำ   ทำให้น้ำเสียช้าลง  เวลาลูกปลากินแล้วไม่อืดไม่ลอยหัว ทำให้ลูกปลากินได้ทั้งวัน  เป็นเหตุที่ทำให้ลูกปลาโตเร็วขึ้นครับ


5. เตรียมพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ปลากัดที่ท่านต้องการ  สำหรับอายุปลาที่จะนำมาผสมพันธุ์นั้น  ปกติผมมักจะใช้ปลากัดที่มีอายุตั้งแต่ 2 เดือน ในการเพาะ อย่างไรก็แล้วแต่ท่านต้องดูความพร้อมและขนาดของปลาด้วย  ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์และการเลี้ยงดู  เพราะบางท่านปลา 2 เดือนอาจจะยังตัวเล็กมากเกินไป  ส่วนตัวเมียนั้นถ้าท่านเห็นฝักไข่ในท้องก็สามารถจับลงรัดได้แล้วครับ และไม่จำเป็นต้องรอให้แม่ปลาท้องเปล่งมากแล้วค่อยรัดครับ   และที่สำคัญต้องหาตัวเมียที่เล็กกว่าตัวผู้ ตัวเมียถึงจะยอมให้รัด และควรให้อาหารให้อิ่มก่อนทำการลงเพาะ  เนื่องจากผมจะงดอาหารพ่อแม่ปลาในช่วงระหว่างการผสมพันธุ์ครับ

บางท่านพบว่าแม่ปลากัดมีไข่ไหลลงมาเต็มเลยทั้งที่ยังไม่ได้เพาะกับตัวผู้  ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องปกติ  ไข่ที่ร่วงมาแล้วไม่ได้รับการผสมจากพ่อพันธุ์มันก็ไม่เป็นตัวครับ
6. ตักพ่อพันธุ์ปลากัดที่เราเตรียมไว้ใส่ไปในตู้เพาะที่เราเตรียม  หลังจากนั้นพ่อปลาก็จะเริ่มก่อหวอด แต่ถ้าหากพ่อปลาไม่ยอมก่อหวอด เราสามารถตักหวอดของปลากัดตัวอื่นมาใส่ไว้ในตู้ก็จะช่วยได้ หรือถ้าหากพ่อปลาไม่ยอมก่อหวอดก็ไม่เป็นไร เมื่อเวลาที่ใกล้จะผสม พ่อปลาก็จะเร่งสร้างหวอดเอง หรือถ้าหากไม่มีหวอดจริงๆ พ่อปลาก็สามารถวางไข่ให้ลอยบนน้ำได้ครับ ไม่มีปัญหา


7. ตักแม่พันธุ์ที่เราเตรียมไว้ลงไปในตู้ช่วงเวลาประมาณ 4-5 โมงเย็น พ่อปลาก็จะไล่กัดตัวเมีย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องหาแม่ปลาที่ตัวขนาดเล็กกว่าพ่อปลานะครับปลาตัวเมียถึงจะยอมให้ตัวผู้รัด  แต่ถ้าหากท่านหาตัวเมียใหญ่กว่า ผลก็คือตัวผู้ถูกตัวเมียไล่กัด  และไม่ยอมให้รัดแน่นอน ถ้าหากเห็นว่าตัวเมียไล่กัดตัวผู้เมื่อไหร่ต้องเอาออกแล้วเปลี่ยนคู่ใหม่ครับ   หลายท่านอาจสงสัยว่าทำไมผมไม่เทียบปลาก่อนจะลงรัดหรืออย่างไร  ซึ่งสำหรับผมนั้น ไม่เคยเทียบปลาก่อนการรัดเลยครับ เนื่องจากปกติแล้วธรรมชาติของปลากัดตัวเมียมีไข่ในท้องอยู่แล้ว การเทียบไม่ใช่เป็นการทำให้ตัวเมียท้องแต่เป็นการช่วยเร่งไข่ให้สุก  และเพิ่มความพร้อมของปลา ซึ่งหากท่านใดจะเทียบก่อนก็แล้วแต่ท่านสะดวกครับ


8. พอถึงช่วงสายของวันถัดไป ประมาณ 9 โมงเป็นต้น ถึงเที่ยงหรือบ่าย พ่อปลาก็จะทำการรัดแม่ปลาเป็นเวลานาน 4-5 ชั่วโมง  รัดกันช่วงแรกไข่ของแม่ปลาจะยังไม่ออก ต้องรัดไปได้สักระยะหนึ่งไข่จึงจะออกจากท้อง  พ่อและแม่ปลาก็จะช่วยกันเก็บไข่ไปไว้ใต้หวอด 


9. เมื่อพ่อปลารัดแม่ปลาจนเสร็จแล้ว พ่อปลาก็จะไล่กัดแม่ปลาและคอยไล่ไม่ให้แม่ปลามาอยู่ใกล้หวอด  จนตัวเมียเริ่มไปอยู่มุมตู้แล้ว  ก็ให้ท่านตักแม่พันธุ์ออก  โดยระวังอย่าไปโดนไข่หรือหวอดของลูกปลา


10. หลังจากเป็นไข่ อีก2 วันก็จะเป็นตัวห้อยหางออกมาจากหวอด ถัดจากนี้ไปอีก 2 วันลูกปลาก็จะเริ่มว่ายออกจากหวอดแล้ว  ผมก็จะเริ่มให้อาหารมื้อแรกที่ต้องให้ซึ่งเป็นมื้อสำคัญ โดยผมจะให้ลูกไรแดงหรือไรจืดใส่ลงไปในตู้  พ่อปลาก็จะได้กินอาหารมื้อแรกหลังจากวันรัดกันพร้อมๆกับลูกปลาเลยครับ  เวลาให้ลูกไรก็ไม่ต้องกรองเอาแต่ไรตัวเล็ก  ให้ท่านใส่ไปเลยทั้งไรตัวใหญ่นี่แหละครับ เพราะไรตัวใหญ่มันก็จะออกลูกของลูกไรอีกที  ซึ่งลูกปลาก็จะสามารถกินลูกของลูกไรอีกทีที่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็นครับ ลูกไรเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกปลา  สำหรับท่านที่ไม่มีลูกไร  ท่านใช้อย่างอื่นทดแทน ไม่ว่าจะเป็น อาหารผง, ไข่ตุ๋น,ไข่แดง,เต้าหู้ไข่  แต่ควรระวังเรื่องน้ำเน่าเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ลูกปลาท่านตายได้ และแน่นอนครับลูกปลาท่านจะโตช้า และอัตราการรอดน้อยลงครับ   และในการให้อาหารมื้อแรกนี้ผมจะเริ่มเปิดออกซิเจนเบาๆ เน้นนะครับว่าเปิดเบาๆให้เบาที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไว้ไกลๆ หรือฝั่งตรงข้ามกับหวอดหรือลูกปลา  เป็นการเพิ่มอ๊อกซิเจนในน้ำ  ทำให้ลูกปลากินอาหารได้ดีขึ้น


11. หลังจากนี้ก็ต้องให้อาหารลูกปลาทุกวันวันละมื้อก็พอครับอย่าให้เยอะจนเกินไป ผมจะให้พ่อปลาดูแลลูกปลาในช่วง 10-15 วัน  พ่อปลามีความสำคัญในการเลี้ยงลูกอย่างมาก ถ้าหากลูกตัวไหนอ่อนแอ หรือตกจากหวอด พ่อปลาก็จะคอยอมลูกปลาแล้วไปพ่นไว้บนหวอด  อีกทั้งพ่อปลาจะคอยว่ายไล่ต้อนลูกปลาเมื่อลูกปลาว่ายออกจากหวอดแล้ว ถ้าหากตัวไหนอ่อนแอ พ่อปลาก็จะคอยว่ายอมลูกปลาเพื่อเป็นการรักษา ซึ่งบางท่านอาจเข้าใจผิดนึกว่ามันกินลูกปลาครับ


12. พอ 10 -15 วัน ก็เอาพ่อปลาออก ผมก็ให้อาหารตามปกติทุกวัน  ซึ่งประมาณสัปดาห์ที่ 4 ก็สังเกตน้ำถ้าน้ำเริ่มเน่า ก็ต้องดูดน้ำเก่าออก โดยใช้สายยางเล็กๆดูดน้ำเก่าและตะกอนออก และใส่น้ำใหม่เติมลงไป หรือถ้าหากปลาท่านแข็งแรงตัวโตแล้วก็ใช้วิธีเปลี่ยนถ่ายน้ำทั้งหมดได้เลยครับ


13. หลังจากนั้นท่านก็ดูแลให้อาหาร เปลี่ยนน้ำ และคอยสอดส่องดูว่าลูกปลาเป็นโรคไหม จะได้รักษาได้ทัน ก็เป็นอันเสร็จสิ้นเรื่องของการเพาะและอนุบาลปลากัดเบื้องต้นในแบบฉบับของผมแล้วครับ


สำหรับวันนี้ผมก็ขอจบเรื่องราวของการเพาะและอนุบาลปลากัดเบื้องต้นเพียงเท่านี้  ผมคิดว่าคงเป็นประโยชน์สำหรับหลายๆท่านไม่มากก็น้อย  ท่านสามารถเอาไปปรับใช้กับวิธีการเพาะในแบบฉบับของท่านแล้วแต่ความสะดวกและความเหมาะสมครับ  แล้วคราวหน้ามาเจอกันใหม่นะครับ

 

 บ้านปลากัด(FISH HOME)

.

bottom of page